No Widgets found in the Sidebar
โรคอ้วน

“โรคอ้วน” เป็นโรคหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหา เพราะเนื่องด้วยจากปัจจัยหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกินที่ดี อร่อย กินจนเพลิน หรือการทำงานที่อาศัยการนั่งโต๊ะที่มากเกินไป การไม่ขยับร่างกายและอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายจนทำให้เราอ้วนทั้งสิ้น วันนี้เราจึงอยากพาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ไขมันในร่างกายเกิดจากอะไร” และเราจะจัดการไขมันเหล่านั้นได้อย่างไรบ้างกันครับ

ไขมันในร่างกายคืออะไร?

ไขมัน หมายถึง สารประกอบหลายชนิดซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือ ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ แต่ไม่ละลายน้ำ ไขมันในทางเคมี คือ ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไตรเอสเทอร์ของกลีเซอรอลกับกรดไขมัน สถานะของไขมันที่อุณหภูมิห้องมีทั้งของแข็งและของเหลว โดยไขมันในร่างกาย (Body Fat) คือ แหล่งพลังงานสำรอง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์ไขมัน โดยทั่วไปคนเราจะมี เนื้อเยื่อไขมันสีขาว (White Adipose Tissue) มากที่สุด และนี่ก็คือชนิดของไขมันที่เราควรกำจัดออกจากร่างกายมากที่สุดครับ โดยไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกายเกิดจากการได้รับพลังงานและสารอาหารบางอย่างเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มไขมันและคาร์โบไฮเดรต แม้ว่าสารอาหารเหล่านี้จะมีความสำคัญ แต่การได้รับมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้

ไขมันส่วนเกินเกิดจาก

เมื่อพลังงานและสารอาหารหลงเหลืออยู่ ร่างกายจะเปลี่ยนพลังงานและสารอาหารเหล่านั้นไปเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงานสำรอง เมื่อนานวันเข้า ไขมันที่สะสมเหล่านั้นก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนเกินค่าของไขมันที่ควรมีภายในร่างกายและกลายเป็นไขมันส่วนเกิน

อันตรายของไขมันส่วนเกินในร่างกาย

อันตรายจากไขมันส่วนเกินในร่างกาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ดังนี้

ไขมันส่วนเกินในหลอดเลือด คอเลสเตอรอลเป็นคำที่ใช้เรียกไขมันรูปแบบหนึ่งที่พบภายในเลือด สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ชนิดที่คนทั่วไปคุ้นเคยอาจมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ LDH (Low-Density Lipid Protein) และ HDL (High-Density Lipid Protein) ซึ่งไขมันในหลอดเลือดชนิด LDL เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อกินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ ไขมันชนิดนี้จะเข้าไปสะสมภายในผนังหลอดเลือด เมื่อเวลาผ่านไปไขมันจะกลายเป็นคราบตระกรันหรือพลัค (Plaque) ซึ่งคราบนี้จะยึดเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตัน หลอดเลือดอักเสบ และเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) โดยภาวะหลอดเลือดแข็งจะนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ เป็นต้น

ไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวหนัง ไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous Fat) เป็นตัวการที่ทำให้หน้าท้อง ต้นขา ต้นแขน แก้ม คอ และร่างกายส่วนอื่น ๆ มีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้น ไขมันชนิดนี้จะสะสมอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังก่อนถึงชั้นกล้ามเนื้อ ยิ่งไขมันชนิดนี้มาก สัดส่วนก็จะขยายมากขึ้นไปด้วย

ไขมันส่วนเกินในช่องท้อง โดยไขมันส่วนเกินในช่องท้อง (Visceral Fat) ไขมันสะสมชนิดนี้อาจไม่ส่งผลต่อรูปร่างสักเท่าไหร่ แต่อันตรายต่อสุขภาพ เพราะไขมันส่วนเกินชนิดนี้จะไปเกาะอยู่ตามอวัยวะภายในช่องท้อง ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้ และตับ ซึ่งอวัยวะเหล่านั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย เมื่อสะสมนานวันเข้าก็อาจทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติและเสี่ยงต่อโรคมากขึ้นครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “ไขมันในร่างกายเกิดจากอะไร” และมีอันตรายอย่างไรต่อเราบ้าง เมื่อรู้กันแล้ว ก็ต้องดูแลและหมั่นออกกำลังกายกันมากขึ้นด้วยนะครับ สุดท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านสามารถลดน้ำหนักและสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้ตามเป้าที่ต้องการเอาไว้กันนะครับ จำไว้ว่า สุขภาพร่างกายจะดีได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นหลักครับ แข็งๆ กันนะครับทุกคนน